" ปี พ.ศ. 2488 กองทัพของสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด บี. 21 และ บี. 29 โดยบินจากฐานทัพประเทศอินเดีย ผ่านเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี ทางทิศตะวันตก โดยใช้เส้นทางผ่าน เขาช่องไก่ (สมัยนั้นเรียกว่า เขาช่องควาย) บ้านเขาปูน ผ่านบริเวณหน้าเมืองกาญจน์ บินต่ำสู่สะพานข้ามแม่น้ำแคว แล้วจึงทิ้งระเบิดตรงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควนั่นเอง ฝูงบินดังกล่าวจะมาประมาณ 5-6 ลำ บางเครื่องบินสูงก็จะบินผ่านเมืองกาญจน์เลยเข้าไปกรุงเทพฯ ไปทิ้งระเบิดที่หัวลำโพง และท่าข้าม จังหวัดนครปฐม โดยฝูงบินดังกล่าวจะบินมาเป็นเวลา คือ เวลาประมาณ บ่าย 4 โมงเย็นของทุกวัน ซึ่งจะมาเป็นระยะ บางครั้งก็สองวัน แล้วทิ้งช่วงจึงจะบินมาใหม่
ชาว บ้านตลาดเมืองกาญจน์ต่างพากันยืนดูบริเวณตลิ่งริมแม่น้ำแคว หลังตลาด ซึ่งพอได้เวลาก็จะพากันไปยืนดูกันเป็นจำนวนมาก สามารถมองเห็นลูกระเบิดที่ปล่อยจากเครื่องบินลงสู่พื้นบริเวณสะพานข้ามแม่ น้ำแคว ระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวสามารถมองเห็นได้ ไม้หมอนรางรถไฟกระจายขึ้นสู่อากาศด้วยแรงระเบิด สร้างความเสียหายยับเยินแก่กองทัพญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง กองทัพญี่ปุ่นที่รักษาสะพานข้ามแม่น้ำแควก็ได้ตั้งป้อมปืนต่อสู้อากาศยาน ณ บริเวณเขาพุราง ท่าน้ำตื้น เขาปูน และบ้านลิ้นช้าง (ปัจจุบันอยู่เขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี) แต่ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินสัมพันธมิตรได้ จึงต้องเกณฑ์เอาบรรดาเหล่าเชลยศึกขึ้นไปยืนอยู่บนสะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อมิให้เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดลงมา ซึ่งเมื่อสะพานถูกระเบิดพังลงแล้วก็ได้เกณฑ์กำลังเหล่าเชลยศึกลงมือสร้าง ใหม่ และเมื่อถูกระเบิดพังลงไปอีกก็ใช้เหล่าเชลยศึกสร้างใหม่ เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา จนต้องมีการเกณฑ์เอาบรรดาเหล่าเชลยศึกขึ้นไปยืนบนสะพาน เป็นที่กำบังเอาไว้ ทำให้เครื่องบินสัมพันธมิตรต้องหยุดการทิ้งระเบิด สะพานข้ามแม่น้ำแควไปโดยอัตโนมัต
ขณะที่บรรดาเหล่าเชลยศึกถูกจับให้ยืนบนสะพานข้ามแม่น้ำแคว เครื่องบินลำแรกได้บินผ่าน เขาช่องไก่ บ้านเขาปูน จนได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า ช่องไค ๆ ก็เป็นที่รู้กัน แต่ปรากฏว่าเมื่อเครื่องบินอยู่ในรัศมีที่จะต้องทิ้งระเบิด จึงได้ปล่อยลูกระเบิดออกจากเครื่องบิน โดยไม่ทันเห็นบรรดาเชลยศึกที่ถูกบังคับให้ยืนบนสะพานฯ จึงเป็นเหตุให้บรรดาเชลยศึกเหล่านั้น ต้องพลอยเสียชีวิตไปในตอนนั้นหลายชีวิตทีเดียว